The WWF is run at a local level by the following offices...
- WWF Global
- Adria
- Argentina
- Armenia
- AsiaPacific
- Australia
- Austria
- Azerbaijan
- Belgium
- Bhutan
- Bolivia
- Borneo
- Brazil
- Bulgaria
- Cambodia
- Cameroon
- Canada
- Caucasus
- Central African Republic
- Central America
- Chile
- China
- Colombia
- Croatia
- Democratic Republic of the Congo
- Denmark
- Ecuador
- European Policy Office
- Finland
Photo essay
All images part of the photo essay collection were taken by award winning photographer Baramee Temboonkiat in the north of Thailand

ดังภาพคือการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยวในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ก่อให้เกิดมิติความอันตรายหลายด้าน ซึ่งการพ่นสารเคมีในระดับสูงเท่าศีรษะนั้นนอกจากทำให้เกษตรกรได้รับสารเคมีผ่านเข้าทางเดินหายใจโดยตรง ยังทำให้สารเคมีฟุ้งกระจายในอากาศ และหากมีฝนตกลงมา สารเคมีในไร่ข้าวโพดก็จะถูกชะล้างลงสู่แม่น้ำแม่แจ่ม ซึ่งมีปริมาณน้ำเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของแม่น้ำปิง และเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ยังผลให้เกิดมลพิษทั้งทางดิน น้ำ และอากาศ

สภาพหลังจากพายุลูกเห็บถาโถมเข้าใส่พื้นที่ทำเกษตรของอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยเหล่าลูกเห็บใช้เวลาเพียง 5 นาทีในการทำลายโรงเรือนที่เกษตรกรเตรียมไว้สำหรับปลูกพริกหวานจนย่อยยับ กระทั่งก่อให้เกิดความเสียหายนับแสนบาทต่อครัวเรือน ซ้ำร้ายบางโรงเรือนที่ยังไม่ได้ลงกล้าพันธุ์พริกหวาน กลับยังไม่ได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐอย่างสมเหตุสมผลอีกด้วย

เกษตรกรผู้ปลูกพริกหวานในอำเภอม่อนแจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กำลังจัดการเก็บกวาดภายในโรงเรือนหลังจากพายุลูกเห็บถล่มเข้าใส่จนสร้างความเสียหายอย่างหนัก ความรุนแรงของพายุลูกเห็บคราวนี้วัดได้จากปริมาณน้ำของลูกเห็บที่ละลายและขังอยู่บนหลังคาโรงเรือน กระทั่งเสาบางต้นรับน้ำหนักไม่ไหวจึงโอนเอน

ไข่มดแดง คือวัตถุดิบจากธรรมชาติที่กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวบ้านทางภาคเหนือ ทว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่รุกเข้าสู่ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือของไทย กลับทำให้ปริมาณไข่มดแดงลดลงไปอย่างน่าใจหายจากการใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมี ปัจจุบันจึงเกิดการแย่งหาไข่มดแดงขึ้นในหลายชุมชน และส่งให้ราคาของมันพุ่งไปแตะที่กิโลละกว่าพันบาท

ภาพมุมสูงจากวัดพระธาตุเขาน้อย จังหวัดน่าน สะท้อนให้เห็นปัญหาหมอกควันที่แผ่ปกคลุมตัวเมืองน่านจนมีลักษณะคล้ายกับหมอก ทว่าแท้จริงแล้วเป็นฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไร่เพื่อปรับหน้าดิน ของเกษตรกรผู้ทำเกษตรเชิงเดี่ยวในที่ราบสูงของจังหวัดน่าน โดยเฉพาะการทำไร่ข้าวโพดที่กินพื้นนับหมื่นไร่

‘พริก’ นับเป็นสินค้าเกษตรที่มีปริมาณสารเคมีตกค้างลำดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์ยอดนิยมอย่างซูเปอร์ฮอต ที่นอกจากจะให้ผลผลิตมาก ยังตอบสนองต่อสารเคมีได้ดี ทว่าเรื่องน่าเป็นห่วงก็คือ ในเมื่อพริกคือวัตถุดิบสำคัญของอาหารไทยทุกภาค การหลีกเลี่ยงอาหารเจือปนสารเคมีจึงทำได้ยากขึ้นทุกวัน แม้จะเป็นอาหารที่นิยามว่าเป็นเมนูสุขภาพก็ตาม

แม้จังหวัดน่านจะได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว และใช้สารเคมีมากที่สุดในประเทศ ทว่าในอีกมุมหนึ่งยังมีกลุ่มอนุรักษ์ ‘จอบเปลี่ยนน่าน’ ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อพลิกฟื้นพื้นที่เขาหัวโล้นให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ผ่านการร่วมแรงรวมใจของเกษตรกรผู้มองเห็นปัญหาตรงกัน

เกษตรกรในไร่มะเขือเทศพื้นบ้านที่ปัจจุบันกลับกลายเป็นการปลูกเชิงอุตสาหกรรม กำลังเร่งเก็บผลผลิตที่เพิ่งผ่านการฉีดพ่นสารเคมีเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า ขณะมือข้างหนึ่งกำลังโอบอุ้มบุตรไว้แนบตัว สะท้อนให้เห็นความอันตรายจากสารเคมีทั้งจากการสูดดมและสัมผัสทางตรง ที่กระทบต่อทั้งคนต้นน้ำอย่างครอบครัวเกษตรกรเอง จนถึงคนปลายน้ำอย่างผู้บริโภคในเมืองใหญ่

เยาวชนในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ณ จังหวัดน่านกับผลหม่อนสุก ที่สามารถเก็บกินได้อย่างปลอดภัยเนื่องจากไร้สารเคมี โดยพื้นที่เกษตรอินทรีย์เหล่านี้กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นความหวังเล็กๆ ในจังหวัดน่านที่ได้ชื่อว่ามีพื้นที่การทำเกษตรเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีมากที่สุดในประเทศในปัจจุบัน

รถบรรทุกสารเคมีกำลังมุ่งหน้าตรงไปยังอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งขึ้นชื่อว่าใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมากเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับทุกอำเภอในจังหวัดน่าน เรื่องน่าหวั่นใจก็คือ อำเภอเฉลิมพระเกียรตินับเป็นอำเภอต้นน้ำของแม่น้ำน่าน ซึ่งไหลรวมลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา การใช้สารเคมีอย่างหนักในบริเวณนี้จึงส่งผลกระทบร้ายแรงเป็นวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดผสมยาฆ่าเชื้อรา สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าง่ายๆ ว่าเป็นผงสีชมพู สีแดง หรือสีเหลืองเคลือบอยู่บนเมล็ดพันธุ์ ซึ่งคือส่วนหนึ่งของเกษตรพันธสัญญา ที่บริษัทรับซื้ออาหารสัตว์รายใหญ่มักขายเมล็ดพันธุ์คลุกยาฆ่าเชื้อราพ่วงด้วยสารเคมีในการผลิตให้กับเกษตรกรในสังกัด กระทั่งเกิดเป็นวงจรการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล

บรรยากาศการขายผักพื้นบ้านในตลาดแห่งหนึ่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยปัจจุบันผักพื้นบ้านหลายชนิดได้กลายเป็นผักเชิงอุตสาหกรรมเนื่องจากความต้องการของตลาดที่พุ่งสูงขึ้น อาทิ ใบบัวบก ที่มีผลสำรวจว่ามีปริมาณสารเคมีปนเปื้อนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ และดังภาพคือการจัดชุด ‘ผักรวม’ เพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารพื้นเมืองล้านนาอย่างแกงโฮะ ไม่ต่างจากการจัดชุดอาหารสำเร็จในซูเปอร์มาร์เก็ต

ชาวบ้านกำลัง ‘ฝัด’ ตัวมดแดงให้หลุดออกจากไข่มดแดง เพื่อนำไข่มดแดงที่มีมูลค่าถึงกิโลละกว่าพันบาทส่งขายในตลาดสด โดยไข่มดแดงนั้นนับเป็นอาหารตามฤดูกาลของหน้าร้อน ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับการเผาไร่เพื่อปรับหน้าดินที่ต้องอาศัยอากาศแห้งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เราจึงมักเห็นกิจกรรมการตามล่าหาไข่มดแดงควบคู่ไปกับการเผาไร่ และปัญหาหมอกควันที่ปกคลุมอยู่ทั่วจังหวัดทางภาคเหนือ

เกษตรกรกำลังใช้รถไถไถกลบหน้าดินหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเพาะปลูกถัดไปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยการใช้รถไถกลบในที่ดอนนั้นนับเป็นวิธีการที่เกษตรกรส่วนใหญ่หลีกเลี่ยง เนื่องจากใช้เวลาและต้นทุนมากกว่า ทั้งยังทำได้ยากการว่าเผาที่สามารถทำในที่ราบสูงได้สะดวก ทว่าผลลัพธ์ที่ตามมาคือปัญหาหมอกควัน รวมถึงการทำลายทรัพยากรทั้งสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

แม่ค้าในตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่กำลังริดใบกะหล่ำปลีที่ถูกหนอนเจาะกิน เพื่อส่งขายยังตัวเมืองและทยอยส่งต่อไปยังทั่วประเทศ โดยกะหล่ำปลีนับเป็นสินค้าเกษตรที่เริ่มมีการปลูกแบบอินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าเมื่อเกิดปัญหาแมลงลงกัดกินใบกะหล่ำปลี ก็ทำให้เกิดการตัดแต่งเพื่อส่งขายซึ่งทำให้เกิดอาหารเหลือทิ้ง (Food waste) ที่มักไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อแต่อย่างใด

ผลส้มถูกทิ้งทั้งที่ยังไม่ได้บริโภคในตลาดขายส่งสินค้าเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนให้เห็นปัญหาอาหารที่สูญหายไปในระบบอุตสาหกรรม (Food waste) โดยกรมควบคุมมลพิษรายงานว่าขยะมูลฝอยในประเทศไทยนั้นเป็นขยะที่มาจากอาหารเหลือทิ้งกว่า 64 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากระบบการจัดการสินค้าเกษตรที่ไม่รัดกุม รวมถึงการมองไม่เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพใหญ่ร่วมกัน

ผักพื้นบ้านจำนวนมากที่ถูกนำมาวางขายในตลาดชุมชนของจังหวัดเชียงใหม่ ดังภาพคือผักกูด เห็ดกระด้าง และพืชผักที่ปลูกริมรั้วหรือเก็บจากป่าละแวกใกล้เคียงเพื่อนำมาวางขายในจำนวนจำกัด โดยผักพื้นบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผักที่หมุนเวียนตามฤดูกาล ปลอดจากสารเคมีในการเร่งผลิต และราคาถูก เนื่องจากไม่มีต้นทุนเรื่องสารเคมี อีกทั้งยังเป็นผลผลิตในพื้นที่ใกล้เคียงจึงไม่มีต้นทุนค่าขนส่งมากนัก

ร้านเคมีภัณฑ์ในจังหวัดน่านที่เปิดขายอย่างเอิกเกริกในตลาดค้าส่ง โดยปัจจุบันเกษตรกรในจังหวัดน่านส่วนใหญ่ต่างเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกเชิงอุตสาหกรรมเต็มกำลัง เป็นผลมาจากนายทุนรายใหญ่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดเพื่อเปลี่ยนเป็นอาหารสัตว์ และเพื่อเพิ่มรายได้การส่งออกให้กับผลิตภัณฑ์อาหารเชิงอุตสาหกรรม ตามนโยบายผลักดันให้เมืองไทยเป็นครัวโลกอย่างก้าวกระโดด

เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบในจังหวัดน่าน กำลังเร่งเก็บผลผลิตเพื่อส่งขายให้กับบริษัทยาสูบรายใหญ่ ซึ่งยาสูบนั้นเป็นพืชที่ชาวน่านนิยมปลูกหลังฤดูทำนาข้าวช่วงปลายปี โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกใบยาสูบกว่า 3 พันไร่ในจังหวัดน่าน และส่วนใหญ่ได้รับแรงสนับสนุนทั้งยา ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ยาสูบจากต่างประเทศ ผ่านนายทุนใหญ่ อาทิ โรงบ่มยาสูบ ที่มุ่งหวังผลกำไรแบบด่วนได้จากสินค้าเกษตรชนิดนี้

ปลาน้ำจืดจำนวนมากในตลาดสด ซึ่งส่วนใหญ่จับได้จากแม่น้ำน่าน ทว่ากลับไม่สามารถรับรองได้ว่าปราศจากสารเคมีปนเปื้อนแม้จะเป็นผลผลิตจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติก็ตาม เพราะจากการตรวจสอบโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติพบว่า ปลาจากแม่น้ำน่านส่วนใหญ่ปนเปื้อนสาร ‘ไกรโฟเซต’ ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึมมากกว่า 50 ไมโครกรัม ซึ่งถือเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพ [1]

ไร่ถั่วเหลืองในจังหวัดน่าน ซึ่งคือพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดที่เกษตรกรทางภาคเหนือนิยมปลูก เนื่องจากให้ผลผลิตเร็ว และมีนายทุนรับซื้อต่อเนื่อง ทว่าการปลูกถั่วเหลืองเชิงเดี่ยวนั้นส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ อาทิ ทำลายธาตุอาหารในดิน อีกทั้งการปลูกถั่วเหลืองบริเวณที่ลาดชันยังทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน กระทั่งทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง ปริมาณของผลผลิตจึงลดลงในระยะยาว

เด็กนักเรียนชาวปกาเกอะญอในจังหวัดเชียงใหม่ กำลังรับประทานมื้อกลางวันที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบปลอดสารเคมีที่เพาะปลูกในแปลงเกษตรใกลักับโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มการสร้างอาหารปลอดภัยด้วยตัวเอง ผ่านการปลูกฝังให้ทั้งเด็กและคนในพื้นที่เรียนรู้การทำเกษตรโดยอิงหลักธรรมชาติซึ่งยั่งยืนกว่าการใช้สารเคมีที่บั่นทอนทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหลายเท่า

เกษตรกรกำลังคัดคุณภาพเสาวรสอินทรีย์ จากไร่เหนือหมอก ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งขายยังต่างประเทศและตลาดสินค้าเกษตรในเมืองหลวง โดยไร่เหนือหมอกนับเป็นโมเดลการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ ผ่านทั้งการท่องเทียววิถีชุมชน ร่วมถึงส่งเสริมและรับซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากชาวบ้านละแวกใกล้เคียง จากนั้นจึงจัดการส่งต่อจนถึงมือของผู้บริโภคอย่างมีมาตรฐานสากล

น้ำเสาวรส ผลิตภัณฑ์แปรรูปจาเสาวรสอินทรีย์ของไร่เหนือหมอก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสินค้าทำกำไรอีกชนิดนอกเหนือจากผลเสาวรสสด ทั้งยังช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลเสาวรสให้นานขึ้น และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอินทรีย์ในเครือข่ายขึ้นอีกระดับ ปัจจุบันไร่เหนือหมอกกำลังเร่งผลักดันการท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวภายนอกเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตอย่างยั่งยืนผ่านการทำเกษตรอินทรีย์

พิธีกรรมการ ‘บวชต้นไม้’ บริเวณถนนเชื่อมระหว่างอำเภอแม่แจ่ม ไปยังตำบลแม่นาจร จังหวัดเชียงใหม่ อนึ่ง การบวชต้นไม้นั้นเป็นกุศลโลบายของชาวล้านนาที่เกิดขึ้นเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า ผ่านการผูกโยงความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนมากมักทำกับต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ซึ่งเติบโตอยู่บริเวณป่าต้นน้ำ โดยชาวบ้านเชื่อว่าต้นไม้ใดที่บวชแล้วถูกโค่นลงจะเกิดสิ่งเลวร้ายขึ้นกับผู้ทำลายเอง

ภาพจีวรพระสงฆ์ที่พันผูกอยู่กับต้นไม้ใหญ่ทางไปอำเภอแม่นาจร จังหวัดเชียงใหม่ โดยจีวรดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมบวชต้นไม้เพื่อรักษาต้นไม้ใหญ่ในป่าต้นน้ำ ซึ่งขั้นตอนการบวชนั้นต้องนำโดยพระสงฆ์หรือผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน เป็นการผูกโยงความเชื่อทางศาสนาเพื่อสร้างความศรัทธาไว้เป็นเกราะกำบังต้นไม้ต้นนั้น และในปัจจุบันเราสามารถพบเห็นพิธีกรรมบวชต้นไม้ได้ตามป่าต้นน้ำใหญ่ทั่วประเทศ

เกษตรกรนำเสนอพริกสายพันธุ์ ‘ซูเปอร์ฮอต’ ที่ทางภาคเหนือและอีสานกำลังนิยมปลูกในระยะหลายปีมานี้ โดยลักษณะพิเศษของพริกพันธุ์นี้อยู่ตรงให้ผลผลิตเร็ว (ระยะเก็บเกี่ยว 60-70 วัน) ลำต้นเเข็งแรง ผลสดเก็บได้นานโดยขั้วไม่เน่า ที่สำคัญคือตอบสนองกับสารเคมีในการเร่งผลิตได้ดีมาก เกษตรกรในหลายจังหวัดภาคเหนือจึงนิยมปลูกพริกซูเปอร์ฮอตเป็นพืชเชิงเดี่ยวควบคู่ไปกับการปลูกข้าวโพดและใบยาสูบ

หยวกกล้วย (แกนของต้นกล้วย) ที่ขายอยู่ในตลาดสด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหยวกกล้วยนั้นนับเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านยอดนิยมในอาหารล้านนาหลายชนิด อาทิ แกงหยวกกล้วย แกงน้ำขลุกขลิกที่อุดมด้วยเครื่องเทศรสจัดจ้านที่มีหยวกกล้วยเป็นตัวชูโรง โดยจากผลวิจัยพบว่าต้นกล้วยนั้นเป็นพืชที่มีอัตราการใช้สารเคมีที่ถือว่าต่ำ เพราะกล้วยขยายพันธุ์ไว ดูแลรักษาง่าย ไม่ค่อยมีแมลงรบกวน และยังช่วยบำรุงให้ดินชุ่มชื้นขึ้นได้อย่างดี

แม่น้ำแม่แจ่มที่ติดอยู่กับไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยว สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงในการปนเปื้อนของสารเคมีสู่แหล่งน้ำ โดยแม่น้ำแม่แจ่มนั้นมีความยาวถึง 160 กิโลเมตร เป็นต้นน้ำของแม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำใช้น้ำกินสำคัญของ 5 ชนเผ่า คือ ไทยเหนือ กะเหรี่ยง ละว้า ม้ง ลีซอ จึงพูดได้ว่าการปนเปื้อนสารเคมีในแม่น้ำแม่แจ่มนั้นส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งคนที่อยู่ต้นน้ำเอง ไล่เรื่อยมาจนถึงปลายน้ำในเมืองหลวง

เศษอาหารเหลือทิ้งในโรงทานแห่งหนึ่งในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนการสูญเสียทรัพยากรอาหารอย่างเปล่าเปลือง โดยในปัจจุบันประชากรในอำเภอแม่แจ่มบางส่วนได้จำวัตถุดิบหรือเศษอาหารเหลือจากทั้งวัด โรงทาน หรือโรงเก็บขยะไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์หรือทำปุ๋ยต่อไป ทว่านั่นก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาปลายทางเท่านั้น เพราะปริมาณอาหารเหลือทิ้งในแต่ละวันยังคงอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกวัน

เกษตกรในจังหวัดน่านกำลังระดมแรงขุด ‘คลองไส้ไก่’ วิธีการในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนดินอันแห้งแล้งของเขาหัวโล้น ผ่านหลักการสร้างบ่อน้ำไว้บนที่สูง แล้วขุดลอกคลองเส้นเล็กๆ หมุนวนลักษณะเหมือนลำไส้เลาะเนินเขาลงมาจนถึงพื้นราบ จากนั้นน้ำจะค่อยๆ ไหลซึมผ่านคลองไส้ไก่และแผ่ความชื้นสู่ดินอย่างช้าๆ เป็นวิธีการบำรุงดินโดยใช้แรงดันน้ำตามธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง

ชาวบ้านในจังหวัดน่านกำลังช่วยกันนำเปลือกและซังข้าวโพดที่เป็นผลผลิตหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวมาคลุมหน้าดินบนภูเขาหัวโล้น ก่อนนำปุ๋นน้ำหมักมาราดลงไปอีกชั้น ซึ่งเหล่านี้เป็นวิธีการรักษาความชุ่มชื้นให้กับดินที่แตกระแหงหลังการทำเกษตรเชิงเดี่ยว หรือการบุกรุกแพ้วถางป่า ของโครงการพื้นฟูสิ่งแวดล้อม ‘เปลี่ยนเปลือกให้เป็นปุ๋ย’ ที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อให้สภาพเขาหัวโล้นในจังหวัดน่านกลับมาเป็นป่าต้นน้ำอีกครั้ง

เกษตรกรในจังหวัดน่านกำลังขนเปลือกและซังข้าวโพดมาเพื่อคลุมหน้าดินของภูเขาหัวโล้น เพื่อบำรุงรักษาดินให้กลับมาชุ่มชื้นอีกครั้ง โดยปกติส่วนเปลือกและซังข้าวโพดนั้นจะถูกกำจัดด้วยการเผาทำลาย ทำให้เกิดฝุ่นควันและกลายเป็นมลพิษทางอากาศ อาทิ ปัญหาหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดของประชากรในภาคเหนือ อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ตอไม้ใหญ่หลังจากการเผาไร่เพื่อเปิดหน้าดินที่นิยมทำกันในฤดูร้อน เนื่องจากความชื้นในดินต่ำ การทำเลยทำได้ง่ายและเร็ว สะท้อนให้เห็นความโล่งเตียนของพื้นที่ป่าที่ถูกโค่นลงเพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งส่วนใหญ่คือข้าวโพด เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย จึงสามารถปลูกบนที่ลาดชันได้ อีกทั้งยังเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วและมีนายทุนรอรับซื้อเพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นอาหารสัตว์อยู่ตลอด ทว่าผลลัพธ์ที่ตามมากลับคือพื้นที่ป่าที่หายไป

ภาพไฟป่ากำลังลุกลามอยู่บริเวณภูเขาหัวโล้นในจังหวัดน่าน อันเป็นผลมาจากการเผาไร่เพื่อเปิดหน้าดินสำหรับการเพาะปลูกในรอบถัดไป โดยที่เรามักพบไฟป่าร้อนระอุในยามค่ำคืนนั้นเป็นเพราะเกษตรกรนิยมเผาไร่กันตอนหลังน้ำค้างแห้งแล้ว นั่นคือช่วงสายเรื่อยไปจนถึงก่อนค่ำ และหากทำแนวกันไฟไม่แน่นหนา การเผาในช่วงเย็นก็จะลุกลามจนกลายเป็นเพลิงสว่างไสวในยามค่ำคืน อันตรายต่อทั้งสัตว์ป่าและมนุษย์

ไฟจากการเผาไร่กำลังลุกโชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนผลลัพธ์จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่เร่งเร้าให้เกษตรกรต้องเผาไร่เพื่อเปิดหน้าดินอยู่เสมอ โดยจากการประเมินของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เกิดไฟใหม่ถึง 3 ล้านไร่ ทว่าตัวเลขจากภาครัฐกลับระบุเพียง 2-3 หมื่นไร่เท่านั้น ตัวเลขที่ไม่ตรงกันนี้ทำให้การแก้ปัญหาการเผาและหมอกควันยังคงเรื้อรังจนถึงปัจจุบัน

เปลวเพลิงจากการเผาเปิดหน้าดินเพื่อทำไร่ข้าวโพดกำลังกินเขตแนวกันไฟเข้าไปในป่า โดยสาเหตุหนึ่งที่เกษตรกรต้องรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวนั้น เป็นเพราะส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตัวเอง พื้นที่ป่าจึงกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ยิ่งเมื่อได้รับแรงหนุนจากนายทุนรายใหญ่ที่กว้านซื้อเมล็ดข้าวโพดในราคาสูงเพื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ และยังไม่มีผู้ซื้อรายใดยอมระบุข้อแม้ว่าจะไม่รับซื้อข้าวโพดในพื้นที่ป่า ปัญหาการเผาและหมอกควันจึงยังคุกรุ่นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวขณะกำลังฉีดพ่นสารเคมีลงแปลงเกษตร สะท้อนภาพของการทำเกษตรลักษณะนี้ที่กำลังลุกลามจากภาคเหนือ สู่ภาคอีสาน และภาคกลาง กระทั่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดหนักสารเคมีเช่นนี้กว่า 7 ล้านไร่ทั่วประเทศ และมีเกษตรกรผู้เข้ามาอยู่ในวงจรของเกษตรพันธสัญญากว่า 4 แสนครัวเรือน แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มากเมื่อเทียบกับเกษตรกรทั้งประเทศ ทว่าเรื่องน่ากังวลก็คือเกษตรกรกลุ่มนี้คือกำลังหลักในการผลิตอาหารราว 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ

ฝุ่นละอองขณะกำลังสีเมล็ดข้าวโพดก่อนเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ อันเกิดจากการเร่งผลิตเพื่อสนองตลาดอาหารสัตว์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน และแม้รายได้ของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาของเมล็ดข้าวโพดที่พุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 9 บาท ทว่าผลด้านลบก็คือหนี้สินที่พอกพูนอย่างไม่รู้จบ เนื่องจากการทำไร่เชิงเดี่ยวบนที่สูงนั้นต้องพึ่งพาสารเคมีในการผลิตอย่างหนัก โดยจากการประเมินพบว่าไร่ข้าวโพด 1 ไร่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีกว่า 100 กิโลกรัม และใช้ยาฆ่าหญ้าถึง 1 ลิตร

ชาวบ้านในจังหวัดเชียงใหม่กำลังเลือกซื้อวัตถุดิบจาก ‘รถพุ่มพวง’ หรือรถกระบะขายอาหารสดที่ลัดเลาะเข้าไปเสนอขายสินค้าตามหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบท โดยการเข้ามาของรถพุ่มพวงนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางอาหารได้อย่างชัดเจน เพราะสินค้าในรถพุ่มพวงส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ที่พ่อค้าแม่ค้ารับซื้อจากตลาดค้าส่งรายใหญ่ก่อนนำมาแบ่งขายในราคาย่อมเยา ทั้งที่ผู้ซื้อรายย่อยตามชนบทส่วนมากนั้นมีทั้งพื้นที่และสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการผลิตอาหาร ทว่าก็ยังคงต้องพึ่งพาอาหารหนักสารเคมี

ทิวทัศน์นาขั้นบันไดในพื้นที่บ้านป่าบงเปียง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ขึ้นชื่อของภาคเหนือ ด้วยสมาชิกในชุมชนร่วมใจกันลดละเลิกการใช้สารเคมีในการทำเกษตรและหันมาทำนาขั้นบันไดโดยวิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อพลิกฟื้นให้ผืนดินกลับมาชุ่มชื้นอีกครั้ง ผลลัพธ์เชิงบวกที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ จำนวนปูนาในนาข้าวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญของ ‘น้ำปู๋’ เครื่องปรุงสุดพิเศษในอาหารล้านนา ที่สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ

ภาพนาขั้นบันไดในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวิถีการทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่พบได้บ่อยทางภาคเหนือ อนึ่ง การทำนาขั้นบันไดนั้นเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความลาดชันไม่มาก มีเป้าหมายเพื่อลดการไหลบ่าของน้ำ และลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน อีกทั้งการทำนาขั้นบันไดลักษณะนี้ยังช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกบนที่สูง โดยเฉพาะข้าวไร่และพืชสวนครัว นับเป็นภูมิปัญญาที่ช่วยลดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำกินลงได้อย่างดี
อ้างอิง/sources
(1) https://www.posttoday.com/social/local/442692

เกษตรกรชาวชนเผ่าปกาเกอะญอกำลังหว่านปุ๋ยอินทรีย์เพื่อบำรุงข้าวไร่ในพื้นที่นาขั้นบันได ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยปัจจุบันการทำนาขั้นบันไดนั้นแพร่หลายอยู่ทุกมุมโลก โดยเฉพาะในประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย จีน และเวียดนาม นิยมทำบริเวณที่พื้นที่มีความลาดชัน 5-30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากการทำนารูปแบบนี้จะช่วยลดการบุกรุกป่า ในอีกแง่ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรบริเวณพื้นที่สูงได้อีกทาง

ภาพนาขั้นบันไดในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าวไร่ที่ต้องการน้ำในปริมาณไม่มาก ทนต่ออากาศหนาวและชื้น โดยลักษณะของข้าวไร่นั้นมีความแตกต่างจากข้าวนาตรงเนื้อสัมผัสที่คล้ายข้าวเหนียว ปัจจุบันในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ทั้งแบบนาขั้นบันได และนาที่ราบรวมแล้วประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ [2] ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ ทั้งยังมีแนวโน้มขยายพื้นที่ขึ้นเรื่อยๆ ตามการกระจายตัวของนาขั้นบันไดทางภาคเหนือ

เกษตรกรชาวปกาเกอะญอกำลังมัดกล้าข้าวในฤดูเพาะปลูก ที่เริ่มตั้งแต่ต้นฤดูฝน ราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน โดยโมเดลการทำนาขั้นบันไดด้วยวิถีอินทรีย์ของบ้านป่าบงเปียงนั้น นอกจากช่วยแก้ปัญหาเรื่องการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อทำกิน ยังสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน อาทิ เมื่อพื้นที่เกษตรกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่กันไป

ปริมาณขยะมูลฝอยในจังหวัดเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยกว่าครึ่งเป็นขยะจากอาหารเหลือทิ้ง หรือวัตถุดิบทางการเกษตรที่ไม่ถูกบริโภค อาทิ ผักที่ไม่ได้ขนาด หรือมีลักษณะไม่ตรงตามที่ตลาดสินค้าอุตสาหกรรมต้องการ ซึ่งในแต่ละปีจังหวัดเชียงใหม่ผลิตขยะจำพวกดังกล่าวถึงปีละ 6 แสนตัน [3] ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณการบริโภคของประชากรในจังหวัดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาพการจับจ่ายสินค้าในตลาดเช้า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสินค้าเกษตรที่วางแผงขายนั้นผสมผสานระหว่างสินค้าเกษตรเชิงอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรที่ปลูกอยู่ตามเรือกสวนของชาวบ้านในพื้นที่เอง ทว่าสิ่งน่าสนใจก็คือ แม้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ทำกินเป็นของตัวเอง ทว่าการจับจ่ายซื้อหาวัตถุดิบก็ยังเป็นไปอย่างคึกคักในทุกเช้า เป็นความย้อนแย้งที่สะท้อนถึงความไม่ยั่งยืนของวิถีชีวิตในระบบอุตสาหกรรมได้ชัดเจน

สินค้าเกษตรที่วางขายอยู่ในตลาดจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันกว่าค่อนเป็นสินค้าที่อุดมด้วยสารเคมี จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ไม่ใช่เพียงข้าวโพด พืชผักเชิงอุตสาหกรรม หรือใบยาสูบเท่านั้นที่ แต่รวมถึงดอกไม้และพืชประดับตกแต่งที่ล้วนอาบปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงทั้งสิ้น จากการประเมินพบว่าแต่ละปีประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกไม้ดอกสูงถึง 3 พันล้านบาท [4] จึงไม่น่าแปลกใจหากพื้นที่ทางเหนือจะกลายเป็นแปลงดอกไม้หนักสารเคมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

พ่อค้าแม่ค้าในตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ ขณะอยู่โยงคัดเลือกและรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรเพื่อนำกระจายส่งขายตามชุมชนต่างๆ ในตอนเช้า โดยวิถีชีวิตของพ่อค้าแม่ค้า ‘รถพุ่มพวง’ นั้นเรียกได้ว่าดำเนินอยู่บนหลังรถกระบะราวกับบ้านหลังที่สอง เพราะการจับจ่ายสินค้าเกษตรในตลาดค้าส่งนั้นจะเริ่มตั้งแต่ดึกจนถึงเช้ามืดของอีกวัน โดยพ่อค้าแม่ค้าต้องใช้ไหวพริบและเส้นสายในการเข้าถึงสินค้าเกษตรในราคาที่คุ้มค่า ก่อนนำไปขายปลีกยังผู้บริโภคตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นย่ำ

แปลงผักสลัดอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่กลายเป็นโมเดลซึ่งแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากร้านอาหารสายกรีน หรือร้านอาหารออร์แกนิกเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องในตัวจังหวัด นอกจากการปลูกผักสลัดจะสร้างรายได้ทางตรงให้กับเกษตรกรอย่างงามแล้ว ในอีกทางสวนผักอินทรีย์ยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สร้างรายได้ทั้งจากการเก็บค่าเข้าชมและการขายสินค้าเกษตรหน้าฟาร์มอีกด้วย

สภาพพื้นที่ป่าหลังจากการเผาเสร็จสิ้นราวสองถึงสามสัปดาห์ ซึ่งจะพบว่ามีพืชสีเขียวเล็กๆ เริ่มงอกเงยขึ้นตามตอไม้ที่ถูกเผาไม้จนกลายเป็นสีดำสนิท ซึ่งภาพข้างต้นนั้นเป็นทิวทัศน์ชินตาของผู้ผ่านไปมาในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โดยจากการประเมินพบว่าอำเภอแม่แจ่มแห่งเดียวมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดถึง 123,229 ไร่ (2559) [5]

เด็กชายในครอบครัวเกษตรกรในเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กำลังใช้คราดกวาดเก็บซาดข้าวโพดไร่ก่อนการเผาจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันตามมาในที่สุด และจากการประเมินพบว่าแต่ละปีมีชาวแม่แจ่มเกิดปัญหาสุขภาพจากการสูดดมหมอกควันถึงปีละ 5,000 ราย ทั้งยังเกิดปัญหาภ้ยแล้ง ดินถล่ม ไฟไหม้ลุกลามในเขตป่า จากการเผาซากข้าวโพดปีละกว่า 95,000 ตัน [6]

ภูเขาหัวโล้นในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่ป่าทว่าถูกแผ้วถางและเผาเพื่อปรับหน้าดินให้กลายเป็นพื้นที่ทำกิน โดยเฉพาะการทำเกษตรเชิงเดี่ยว อาทิ ข้าวโพด หรือถั่วเหลือง จากการประเมินพบว่าในระยะ 10 ปี (2549-2558) พื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือตอนบนลดลงกว่า 14,000 ตารางกิโลเมตร ทว่าพื้นที่ทำการเกษตรกลับเพิ่มขึ้นถึง 13,000 ตารางกิโลเมตร เป็นตัวเลขที่สะท้อนภาวะวิกฤติของการตัดไม้ทำลายป่าและมลพิษทางอากาศอันเกิดจากหมอกควันได้อย่างดี [7]

ภาพควันหลังจากการเผาป่าเพื่อแผ้วถางให้กลายเป็นพื้นที่ทำกิน ซึ่งกลายเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่เรื้อรังมานานหลายปี อ้างอิงจากงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าปัจจัยของหมอกควันที่ปกคลุมหลายจังหวัดภาคเหนือนั้นเกิดจาก 3 ประการ หนึ่งคือพื้นที่แอ่งกระทะมีภูเขาล้อมรอบ ที่กักขังหมอกควันไว้ในหลายจังหวัด สองคืออากาศที่นิ่งช่วงหน้าแล้งทำให้หมอกควันไม่จางลง และสามคือการเผาไร่ของเกษตรกรผู้ทำเกษตรเชิงเดี่ยวบริเวณที่สูงที่นับวันจะยิ่งขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

สภาพหลังการเผาป่าเพื่อปรับพื้นที่สำหรับการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ซึ่งไม่เพียงทำให้ต้นไม้เล็กๆ ล้มตายเท่านั้น ทว่าไม้ยืนต้นในป่าเบญจพรรณที่มักมีลักษณะแห้งเหมาะกับการเป็นเชื้อเพลิงก็เผาไหม้กลายเป็นเถ้าถ่านตามไปด้วย โดยอำเภอแม่แจ่มนั้นมีพื้นที่ทั้งหมดราว 1.7 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวน จึงไม่น่าแปลกใจหากพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่จะลุกล้ำพื้นที่ป่าจนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรื้อรังจนทุกวันนี้

ภาพกะหล่ำปลีที่มีลักษณะไม่ตรงตามมาตรฐานสินค้าเกษตรในตลาดค้าส่ง ต้องกลายเป็นพืชผลเหลือทิ้งในแปลงเกษตร นับเป็นอาหารที่สูญหาย (Food loss) จากระบบเกษตรอุตสาหกรรมไปโดยเปล่าประโยชน์ อนึ่ง กะหล่ำปลีนั้นนับเป็นหนึ่งในพืชเกษตรกิจบนที่สูง ซึ่งนิยมปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยวควบคู่ไปกับข้าวโพดและถั่วเหลือง เรียกว่าแค่เพียงอำเภอแม่แจ่มอำเภอเดียวก็มีพื้นที่ปลูกกะหล่ำหลีแบบหนักสารเคมีถึงราว 5 พันไร่

ภาพคนงานกำลังคัดแยกและจัดเก็บหอมแดงเพื่อส่งขายยังตลาดค้าส่งสินค้าเกษตร และจากการประเมินโดยกระทรวงเกษตรฯ พบว่า หอมแดงนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรนิยมปลูกเป็นเชิงเดี่ยวอีกชนิด เนื่องจากทนแล้ง มีตลาดรองรับแน่นอน และตอบสนองต่อสารเคมีที่ช่วยในการเพาะปลูกได้ดี ซึ่งพื้นที่ปลูกหอมแดงนั้นครอบคลุมตั้งแต่ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยในเขตพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เองก็มีพื้นที่ปลูกหอมแดงเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนถึงราว 9 พันไร่ ซึ่งกว่าค่อนเป็นการทำเกษตรแบบใช้สารเคมี

เกษตรกรกำลังไถพรวนหน้าดินเพื่อเตรียมเพาะปลูกในแปลงถัดไป โดยการไถพรวนหน้าดินรูปแบบนี้เป็นวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่สามารถพบเห็นได้ตามเขตชนบททางภาคเหนือ ควบขนานไปกับการใช้เครื่องจักรในการไถพรวนหน้าดิน อนึ่ง นอกจากปรับสภาพหน้าดินแล้ว หลังจากนี้เกษตรยังนิยมใช้ยาฆ่าหญ้าพ่นอาบแปลงเกษตรเพื่อกำจัดศัตรูพืชก่อนเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ ด้วยเพราะต้องการความรวดเร็วในการจัดการแปลงเกษตรเพื่อทำการเพาะปลูกแบบเน้นปริมาณ

ภาพถ่ายมุมสูงของพื้นที่ภูเขาหัวโล้นในจังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการบุกรุกที่ทำกินในเขตพื้นที่ป่าอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยในปัจจุบันป่าต้นน้ำทั้ง 13 จังหวัดภาคเหนือถูกบุกรุกราว 8.6 ล้านไร่ คิดเป็นความเสียหายเชิงเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท [8] ยิ่งกว่านั้นยังเป็นบ่อเกิดของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย อาทิ ปัญหาลำน้ำแห้งขอดกระทั่งเกษตรกรบนที่ราบไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ หรือปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ที่ส่งผลกระทบกับทั้งสัตว์น้ำและมนุษย์ปลายน้ำอย่างเราๆ

คนงานในตลาดสดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่กำลังเข็นขยะสดที่เหลือทิ้งจากตลาด ไปกองรวมกันเพื่อนำบางส่วนไปคัดแยกเป็นปุ๋ย และบางส่วนนำไปฝังกลบกลายเป็นขยะมูลฝอยที่นับเป็นปัญหาแก้ไม่ตก ซ้ำยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยขยะเหล่านี้ส่วนมากมักมีต้นทางจากการคัดเกรดสินค้าเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ที่หากขนาดไม่ได้มาตรฐาน สีสันไม่สวย หรือมีรอยแมลงไม่น่าดู ก็จะถูกคัดทิ้งไปอย่างไร้ค่า กลายเป็นความสูญเสียที่ไม่ใช่เพียงอาหารเท่านั้น แต่รวมถึงต้นทางการผลิตอย่างน้ำ ปุ๋ย และแรงกายของเกษตรกรในการดูแลรักษาสินค้าเกษตรตั้งแต่เริ่มหว่านเมล็ดจนถึงวันเก็บเกี่ยวส่งขาย

พนักงานของฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่กำลังแปรรูปสินค้าเกษตร อาทิ เสาวรสอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค อนึ่ง ปัจจุบันหลายฟาร์มเกษตรอินทรีย์ทางภาคเหนือกำลังเร่งพัฒนาและแปรรูปสินค้าเกษตรตามนโยบายส่งเสริมของทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น โครงการเกษตรเพื่ออาหารสุขภาพดีวิถีล้านนา ที่ดำเนินงานโดยพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้สินค้าเกษตรอินทรีย์สามารถซื้อหาได้ในวงกว้าง และอยู่ในระดับราคาที่คนทั่วไปสามารถเอื้อมถึง

พนักงานในโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ กับผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้รับความนิยมสูง อาทิ ไข่มดแดงอัดกระป๋อง และเห็ดเผาะในน้ำเกลือ 2 ผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นผลิตผลตามฤดูกาลหากินยาก และไม่สามารถเพาะเลี้ยงหรือเพาะปลูกเชิงอุตสาหกรรมได้ การแปรรูปเป็นอาหารกระป๋องจึงนับเป็นหนทางที่ดีในการทำให้อาหารเหล่านี้สามารถหากินได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องเบียดบังสิ่งแวดล้อมโดยการเร่งผลิตเพื่อให้มีผลผลิตนอกฤดูกาล ด้วยการใช้สารเคมีหรือสร้างโรงเรือนจำลองต้นทุนสูง

เกษตรกรกำลังเก็บผลผลิตฟักเขียว ที่ปลูกแซมอยู่เคียงกับไร่ข้าวโพด ซึ่งฟักเขียวนับเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดที่นิยมปลูกแบบเชิงเดี่ยว ด้วยให้ผลผลิตเร็ว เรียกว่าหลังหยอดเมล็ดลงดินเพียง 60-70 วันก็สามารถเก็บผลผลิตได้ อีกทั้งยังเป็นพืชใช้น้ำน้อย สามารถปลูกบริเวณที่ดอน หรือบริเวณเนินเขาได้อย่างสบาย ที่สำคัญคือฟักเชียวเป็นพืชที่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีได้ดี จึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรนิยมปลูกทั่วไปในภาคเหนือ

ลานรวบรวมสินค้าเกษตรจากหลายหมู่บ้านทางภาคเหนือ ที่ผสมรวมทั้งสินค้าเกษตรแบบอินทรีย์ และสินค้าเกษตรเชิงอุตสาหกรรม เพื่อนำมาคัดแยกและส่งขายไปยังแหล่งรับซื้อที่ต่างกันไป สะท้อนให้เห็นถึงการรับซื้อที่ยังปะปนและไม่มีเส้นมาตรฐานจริงจัง โดยปัจจุบัน ‘มาตรฐานการรับซื้อ’ ที่คำนึงถึงผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม อาทิ ต้องเป็นสินค้าเกษตรที่ไม่เพาะปลูกในพื้นที่ป่า หรือไม่ใช้วิธีเผาไร่เพื่อปรับหน้าดิน ยังไม่ปรากฎชัดในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวจึงยังลุกลามไม่จบสิ้น

เกษตรกรกำลังเก็บกะหล่ำปลีโตเต็มวัยเพื่อส่งขายยังตลาดค้าส่งสินค้าเกษตร อนึ่ง กะหล่ำปลีนับเป็นพืชที่นิยมปลูกแบบเชิงเดี่ยวรองจากข้าวโพด และเรื่องน่าหวั่นก็คือส่วนใหญ่ล้วนใช้สารเคมีในการผลิต อ้างอิงจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่าผักอุตสาหกรรมที่มีสารเคมีตกค้าง 100 เปอร์เซ็นต์ ได่แก่ แตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว และกะหล่ำปลี ถึงกับมีคำกล่าวว่ากลิ่นรสของกะกล่ำปลีที่เราคุ้นชินกันทุกวันนี้เป็นกลิ่นรสอาบสารเคมี ซึ่งไม่ใช่กลิ่นรสของกะหล่ำปลีสดๆ ตามธรรมชาติแต่อย่างใด [9]

กระบวนการสีเมล็ดข้าวโพดก่อนนำส่งขายยังบริษัทผลิตอาหารสัตว์ โดยปัจจุบันอาหารสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดมีส่วนผสมหลักคือเมล็ดข้าวโพดแห้งและปลาตัวเล็กป่น ซึ่งล้วนเป็นผลผลิตที่ก่อให้เกิดผลเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น แน่นอนว่า ผลกระทบเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการสนับสนุนของบริษัทผลิตอาหารรายใหญ่ บวกกับการควบคุมที่ไม่รัดกุมของภาครัฐ ซึ่งถือเป็นความไม่รับผิดชอบต่อต้นทุนสาธารณะของทั้งสองฝ่าย ที่พยายามผลักภาระให้สังคมแบกรับความเสี่ยงกันเอาเอง

วิถีชีวิตชาวชนเผ่าปกาเกอะญอ ชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอยู่ทางภาคเหนือของไทย และมีวิถีชีวิตอิงแอบกับธรรมชาติในทุกมิติ ดังภาพคือหญิงชาวปกาเกอะญอกำลังปรุงอาหารอยู่ใน ‘เรือนครัว’ ที่ปลูกแยกจากตัวบ้าน ซึ่งการปลูกบ้านรูปแบบนี้นับเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอที่นิยมสร้างบ้านกับครัวแยกกัน ด้วยเชื่อว่าครัวเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีไว้สำหรับปรุงอาหารและประกอบพิธีกรรม อีกทั้งชาวปกาเกอะญอยังให้ความเคารพกับไฟที่มักจุดติดไว้ในเรือนครัว ด้วยเชื่อว่าสัญลักษณ์ของอำนาจและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เกษตรกรกับแมลงและมวนยาสูบ สะท้อนความย่อนแย้งของวิถีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่อุดมด้วยสารเคมี ซึ่งทำลายชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในแปลงเกษตร อากาศ แหล่งน้ำ ตัวเกษตรกรเอง เรื่อยไปจนถึงผู้บริโภคที่อยู่ปลายน้ำซึ่งได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า แต่ในทางกลับกัน ตัวเกษตรกรเองกลับไม่ตระหนักถึงผลร้ายของเคมีรอบตัว ทั้งจากยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี หรือพิษจากควันยาสูบที่สูดเข้าร่างกาย ซึ่งใบยาสูบเองก็นับเป็นหนึ่งในพืชอุตสาหกรรมที่เพาะปลูกอย่างแพร่หลายทางภาคเหนือเช่นกัน

เกษตรกรชาวปกาเกอะญอกับการทอผ้าด้วยมือ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาตามหลักวิถีชีวิตที่ว่า ‘ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวปกาเกอะสามารถคงอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ได้จนทุกวันนี้ โดยผ้าทอของชาวปกาเกอะญอนั้นมีเอกลักษณ์ตรงลวดลายที่เรียบง่ายและสะท้อนวิถีชีวิตชุมชน เช่น ลายป่า ลายน้ำ ลายภูเขา นอกจากผ้าทอมือจะเป็นงานหัตถกรรมอันสวยงาม ยังสร้างรายได้ให้สมาชิกในชุมชน ต่อยอดกลายเป็นเศรษฐกิจของชุมชนที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ซังและเปลือกข้าวโพดที่ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะหลังการเก็บเกี่ยว กระทั่งปะปนกับน้ำฝนจนกลายเป็นแอ่งขยะเปียกขนาดใหญ่ในแปลงเกษตร ก่อนจะกลับกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ทว่าเรื่องน่าเป็นห่วงก็คือ ซังและเปลือกข้าวโพดเหล่านี้ล้วนปนเปื้อนสารเคมีทั้งจากยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี เมื่อกลายเป็นปุ๋ยจึงส่งทอดความอันตรายสู่ดินโดยตรง กลายเป็นวงจรการปนเปื้อนสารเคมีที่เกษตรกรผู้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอาจคิดไม่ถึง

เห็ดป่าที่กลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดี และสร้างรายได้อย่างงามให้กับชาวบ้านในหลายจังหวัดภาคเหนือ ทว่าองค์ความรู้ในการเก็บเห็ดนั้นยังติดอยู่กับความเชื่อบางอย่างที่ทำลายสิ่งแวดล้อม อาทิ ความเชื่อที่ว่าหากเผาให้เกิดเขม่าตะกอนหรือขี้เถ้าในดิน เห็ดจะงอกงามเป็นพิเศษ กระทั่งก่อให้เกิดการเผาป่าหาเห็ดช่วงหน้าฝนจนลุกลามเป็นไฟป่าในหลายพื้นที่ ทว่าความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยการเกิดของเห็ดป่าไม่เกี่ยวข้องกับเขม่าหรือการเผาเปิดหน้าดินแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ความชื้น และเชื้อเห็ดบริเวณนั้น

เกษตรกรกำลังพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชบริเวณแปลงเกษตร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปรับหน้าดินและหว่านเมล็ดข้าวโพดในรอบเพาะปลูกต่อไป จากการประเมินพบว่า การปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวนั้นทำกำไรให้ชาวบ้านไร่ละประมาณ 4 พันบาท [10] ซึ่งเมื่อหักลบกับต้นทุนที่ต้องใช้ไปกับเมล็ดพันธุ์และสารเคมีแล้ว ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้ แต่การหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน ก็ต้องใช้เวลารอผลลัพธ์ที่คุ้มค่านานพอสมควร และนั่นเป็นเหมือนกำแพงที่เกษตรกรต้องก้าวข้ามไปให้ได้

เกษตรกรกับกอหญ้าแฝกที่ปลูกเสริมอยู่บริเวณที่ดอน เพื่อลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน โดยนิยมปลูกกันในช่วงต้นฝน ด้วยลักษณะของหญ้าแฝกนั้นมีระบบรากที่สานกันแน่น ช่วยอุ้มน้ำ และยังเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ที่ช่วยบำรุงดินมากมาย ทั้งยังช่วยเก็บกักไนโตรเจนไว้ในดินด้วย สำคัญคือ เมื่อถึงหน้าแล้ง รากของหญ้าแฝกจะช่วยทะลวงดินให้ร่วน ไม่แตกระแหง และดูดน้ำกลับมาสร้างความชุ่มชื้นให้กับดินได้ด้วย

ภาพนาขั้นบันไดที่ทอดยาวคลุมเนินเขาหลายลูกในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นความสวยงามที่ค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมาหลังชาวบ้านเลือกเส้นทางการทำนาข้าวอินทรีย์ แทนที่การทำนาแบบหนักปุ๋ยเคมีอย่างที่เคยเป็นมา นอกจากผลลัพธ์เชิงสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ในนาข้าวกลับมา ทั้งปูนา ปลาตัวเล็ก รวมถึงแมลงสายพันธุ์ท้องถิ่น นาขั้นบันไดยังนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับในใจของนักเดินทางทั่วโลก โดยเฉพาะในอำเภอแม่แจ่มที่ทุกๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมความงามของนาข้าวลักษณะนี้นับหมื่นคน

เกษตรกรผู้ทำนาขั้นบันไดในจังหวัดเชียงใหม่ กับภารกิจการจับปูนาในนาข้าวเพื่อนำกลับไปปรุงเปลี่ยนเป็น ‘น้ำปู๋’ เครื่องปรุงอันโอชะของชาวล้านนา ที่ยิ่งเมื่อเกษตรกรลดการใช้เคมีมากเท่าไหร่ สิ่งมีชีวิตในนาข้าวก็กลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะปูนาที่นำไปขายก็ได้ราคาดี หรือทำไปบดให้ละเอียดแล้วเคี่ยวทำเป็นน้ำปู๋ เก็บใส่กระปุกไว้กินกันในครัวเรือน หรือส่งขายก็ทำกำไรกิโลกรัมละนับพันบาท เป็นรายได้เสริมที่ธรรมชาติมอบตอบแทนการลงแรงอนุรักษ์ให้สิ่งแวดล้อมฟื้นคืนกลับมา

ต้นไม้ที่ยืนต้นโดดเดี่ยวอยู่บริเวณภูเขาหัวโล้น สะท้อนความแห้งแล้งของป่าต้นน้ำที่กลายเป็นพื้นที่ทำกินไปอย่างน่าเสียดาย จากการวิเคราะห์พบว่าสาเหตุที่ทำให้ภูเขาหัวโล้นยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังนั้น มีหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ รัฐไม่สามารถทวงคืนพื้นที่ป่ากลับมาได้จริง เนื่องจากป่ามีอาณาบริเวณกว้างมาก อีกทั้งยังถูกหนุนด้วยกลุ่มทุนต่างๆ รวมถึงการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่าก็เป็นไปอย่างไม่เข้าใจลักษณะทางภูมิศาสตร์เท่าที่ควร อีกทั้งการรุกล้ำพื้นที่ป่าก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ภูเขาหัวโล้นจึงยังเป็นภาพชินตาอยู่จนทุกวันนี้

ภาพการสีเมล็ดถั่วเหลืองด้วยเครื่องจักร ทำให้เกิดฝุ่นละอองคลุ้งในอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรทางตรง ยิ่งกว่านั้นฝุ่นละอองยังกระจายตามลมไปสู่พื้นที่ต่างๆ จนกลายเป็นมลพิษในระดับภูมิภาค จากการประเมินโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดถึง 40 คนต่อประชากร 1 แสนคน ในขณะที่ภาคอื่นมีอัตราผู้ป่วยด้วยโรคเดียวกันอยู่ที่ 20 คนต่อประชากร 1 แสนคน [11] ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงภาวะวิฤกตของมลพิษทางอากาศจากการเกษตรเชิงเดี่ยว

เกร็ดน้ำแข็งเล็กๆ ที่หลงเหลือจากพายุลูกเห็บที่พัดถล่มอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพายุลูกเห็บนั้นกินเวลาเพียงไม่กี่สิบนาที ทว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรกลับมหาศาล รวมกันกว่าหลายล้านบาท โดยธรรมชาติของพายุลูกเห็บมักเกิดเป็นประจำช่วงฤดูร้อน จังหวะที่มวลอากาศเย็นจากจีนพัดมาปะทะกับมวลความร้อนบริเวณภาคเหนือตอนบนของไทย จนเกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง และอาจเกิดลูกเห็บในบางพื้นที่ สร้างความเสียหายให้กับทั้งเกษตรกรและประชาชนในหลายจังหวัดภาคเหนือ

จานสลัดในร้านอาหารเพื่อสุขภาพในจังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงกระแสคนรักสุขภาพที่เป็นตลาดใหญ่ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกิดขึ้น เนื่องจากร้านอาหารสายกรีนหลายแห่ง อาทิ ร้านสลัดโอ้กะจู๋ ในตัวเมืองเชียงใหม่ เข้ามาร่วมทำงานกับเกษตรกรอินทรีย์ ในการส่งเสริมทั้งการปลูก และรับซื้อสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพนำไปจัดจำหน่าย เป็นการร่วมพัฒนาระหว่างผู้ปลูกและผู้ปรุง เพื่อส่งต่ออาหารสะอาดให้ถึงจานของผู้กินอย่างมีคุณภาพ

เกตรกรในจังหวัดเชียงใหม่กำลังรดน้ำต้นอ่อนทานตะวัน พืชเศรษฐกิจอีกชนิดที่กำลังมาแรงในตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ ด้วยมีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 7-10 วัน และมีราคาเฉลี่ยสูงถึงกิโลกรัมละ 120 บาท เป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรสายอินทรีย์ เช่นในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยมีตลาดรองรับชัดเจน ทั้งในตัวเมืองเชียงใหม่เอง ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ รวมถึงตลาดต่างประเทศที่เติบโตขึ้นทุกวัน

สภาพดินแตกระแหงบริเวณภูเขาหัวโล้นในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผลลัพธ์จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ส่งผลให้ธาตุอาหารในดินสูญเสียไป ยิ่งกว่านั้น การเผาไร่และป่าจนโล่งเตียนยังทำให้หน้าดินถูกน้ำฝนชะล้างอย่างง่ายดาย เกษตรกรจึงมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการต้องซื้อปุ๋ยเคมีบำรุงดิน อีกทั้งตะกอนดินที่ถูกชะล้างยังมักสะสมอยู่ตามแม่น้ำลำคลองจนทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน รบกวนที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ

ภาพถ่ายมุมสูงของไร่กะหล่ำปลีเชิงเดี่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงระบบการเพาะปลูกเชิงอุตสาหกรรมที่ไม่ปล่อยให้หน้าดินได้พักเพื่อฟื้นฟูตามธรรมชาติ อย่างที่ปรากฎชัดในภาพว่าต้นกะหล่ำปลีแต่ละแปลงกำลังทยอยเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดที่มีอยู่ตลอดเวลา ในทุกฤดูกาล สิ่งที่ตามมาก็คือเกษตรกรต้องเร่งผลิตโดยพึ่งสารเคมี และเลือกทำสัญญาซื้อขายกับผู้รับซื้อรายใหญ่ที่พร้อมกระจายสินค้าออกสู่ตลาดทั่วประเทศ และทำให้ระบบอาหารโดยรวมพังทลาย

ภาพภูเขาหัวโล้นในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถูกปรับหน้าดินให้พร้อมกับรอบการเพาะปลูกต่อไป สะท้อนภาพใหญ่ของปัญหาจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่กำลังลุกลามอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของการทำเกษตรเชิงนิเวศ ที่ให้ความสำคัญกับการเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ คำนึงถึงบทบาทเชิงนิเวศของพืช เช่น ความต้องการแสง น้ำ หรือความสูงของพืช และปลูกแซมอย่างหลากหลายในแปลงเดียว เพื่อให้พืชทยอยให้ผลผลิต และสร้างระบบนิเวศภายในไร่ให้อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน อาทิ การปลูกโกโก้ หรือกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่

ภูเขาหัวโล้นสุดลูกหูลูกตาในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนจากการปลูกข้าวโพดหรือพืชเชิงเดี่ยวชนิดอื่นที่ลุกลามเรื้อรังมาหลายปี นอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมดังภาพแล้ว ในอีกมุม การทำเกษตรเชิงเดี่ยวยังก่อหนี้ให้เกษตรกรเป็นวงจรไม่จบสิ้น จากการประเมินโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์พบว่า ชาวบ้านในอำเภอแม่แจ่ม 80 ราย มียอดหนี้รวมกันราว 25 ล้านบาท [12] ซึ่งหนทางการแก้ปัญหาเบื้องต้นอาจคือการพักชำระหนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีช่องว่างในการปรับตัว ก่อนหันไปทำเกษตรแบบผสมผสานต่อไป

ภาพชุมชนเกษตรกรรมในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่อยู่คู่เคียงกับไร่ทำกินที่ลุกล้ำเข้าไปในผืนป่าสงวน และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านในเขตอำเภอแม่แจ่มต้องรุกป่านั้นเป็นเพราะพื้นที่ที่มีระบบชลประทานเหมาะสำหรับทำเกษตรมีเพียง 2 หมื่นไร่ เกษตรกรจึงนิยมหันไปปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชทนแล้ง สามารถปลูกในที่ดอนได้ผลดี โดยวิธีการรุกป่าที่เกษตรกรนิยมทำก็คือ การเฉาะต้นไม้ให้เป็นแผล แล้วนำสารไกลโฟเสตป้ายลงไป ไม่นานต้นไม้ก็จะล้มทั้งยืน ปีถัดมาจึงจัดการเผาเพื่อปรับหน้าดินให้พร้อมสำหรับหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

ภาพระยะไกลของจุดที่มีการเผาไร่เพื่อปรับหน้าดิน โดยการเผาลักษณะนี้นั้นหากตรวจจับด้วยสัญญาณดาวเทียม จะพบเป็นจุดความร้อน (Hotspot) โดดเด่นขึ้นมาจากบริเวณพื้นที่โดยรอบ ทำให้สามารถประเมินได้ว่าบริเวณใดมีการเผาเกิดขึ้นมากน้อยเท่าไหร่ และอันดับหนึ่งในพื้นที่ที่มีจุดความร้อนกระจายตัวหนาแน่นที่สุดก็คืออำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตลอดทั้งฤดูร้อนมีจุดความร้อนรวมกันถึง 319 จุด (ข้อมูลปี 2558) [13] สร้างผลกระทบเชิงลบทั้งมิติของสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ทั้งยังทำลายภาพลักษณ์เชิงการท่องเที่ยวในทางอ้อม

ทิวทัศน์ของไร่กะหล่ำปลีที่กินอาณาบริเวณภูเขาหัวโล้นหลายสิบลูกในจังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนให้เห็นปัญหาของการทำไร่เชิงเดี่ยวที่ยืดเยื้อและเรื้อรัง ซึ่งจุดชนวนให้เกิดโมเดลการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ มีเป้าหมายเพื่อ ‘ลดพื้นที่เผา เพิ่มพื้นที่ป่า’ ผ่านการเร่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในอำเภอแม่แจ่ม และนำเสนอพืชทางเลือกที่มีตลาดรองรับแน่นอน อาทิ ต้นหอมญี่ปุ่น มะเขือเทศ กูสเบอร์รี่ รวมถึงใช้องค์ความรู้จากโครงการหลวงเข้ามาร่วมพัฒนา

สภาพไร่หลังการเผาในช่วงพลบค่ำ ซึ่งเหตุผลหลักที่เกษตรกรนิยมเผาไร่กันตอนบ่ายหรือเย็นเป็นเพราะความชื้นในอากาศต่ำ ทำให้เรามักพบเห็นริ้วไฟที่ยังไม่มอดกันยามค่ำคืน ซึ่งนับเป็นเรื่องยากในการควบคุมไฟอย่างยิ่ง โดยล่าสุดภาครัฐได้ออกมาตรการ ’51 วันห้ามเผา’ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดหากตรวจพบการเผาไม่ว่ากรณีใด ทว่าการตรวจจับก็ยังคงไม่ครอบคลุม เนื่องจากพื้นที่ป่าทางภาคเหนือนั้นกินอาณาเขตนับล้านไร่ สวนทางกับจำนวนเจ้าหน้าที่ของทางการที่มีเพียงหลักพัน

คนงานในโรงคัดแยกมันฝรั่งเพื่อส่งขายยังบริษัทผลิตอาหารรายใหญ่ โดยปัจจุบันทางภาคเหนือของไทยมีไร่มันฝรั่งมากกว่า 2 หมื่นไร่ ส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนให้ปลูกโดยบริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูป ทั้งยังมีการประกันราคารับซื้อขัดเจน เกษตรกรส่วนใหญ่จึงยินยอมเซ็นสัญญาดังกล่าว ทว่าในอีกแง่ การปลูกมันฝรั่งเชิงอุตสาหกรรมนั้นต้องการผลผลิตต่อเนื่อง ซึ่งขัดกับธรรมชาติของมันฝรั่งที่เป็นพืชเมืองหนาวจึงมักเกิดการเร่งผลิตเพื่อตอบสนองตลาดในทุกฤดูกาลด้วยการใช้สารเคมี

ภาพกะหล่ำปลีในโรงคัดแยกสินค้าเกษตรเพื่อส่งขายในตลาดค้าส่ง อนึ่ง กะหล่ำปลีนั้นนอกจากเป็นพืชที่ตอบสนองต่อสารเคมีได้ดี ดูแลรักษาง่าย ยังถือว่าเป็นพืชที่ราคาดี โดยปกติมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 3-4 บาท ทว่าหากเป็นเทศกาลกินเจ บางปีราคาอาจพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 10-20 บาท [14] จึงไม่น่าแปลกใจที่เกษตรกรในหลายจังหวัดภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ น่าน หรือเพชรบูรณ์ จะหันมาปลูกกะหล่ำปลีเชิงเดี่ยวมากขึ้นทุกวัน

ภาพไฟป่ากำลังรุกล้ำเขตแนวกันไฟเข้าไปยังพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ทำกินในที่สุด ซึ่งแม้เกษตรกรจะยอมแลกพื้นที่ป่าเพื่อได้มาซึ่งที่ทำกิน แต่ในอีกมุม เขาเหล่านั้นก็ล้วนมีสิ่งที่ต้องเสียไปด้วยเหมือนกัน อาทิ ความมั่นคงทางอาหารจากป่า ที่เดิมเลยเป็นเหมือนซูเปอร์มาเก็ตของชุมชน หรือการชะล้างหน้าดินจนเกิดตะกอนในแหล่งน้ำ รวมถึงการปนเปื้อนของสารเคมีที่ทำให้สัตว์น้ำที่เคยเป็นแหล่งอาหารลดน้อยลง กว่านั้น ยังเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วมฉับพลัน หรือดินถล่ม

วิธีที่ง่ายและเร็วในการกำจัดซังและเปลือกข้าวโพดคือ ‘การเผา’ ทว่าผลลัพธ์ที่ตามมากลับมาเป็นปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในหลายจังหวัดภาคเหนือ โดยปัจจุบันหลายฝ่ายกำลังเร่งหาทางออกจากปัญหามลพิษดังกล่าว วิธีหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจก็คือ การทำถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด จากการประเมินพบว่าเป็นถ่านที่นำความร้อนสูง และให้ความร้อนได้เร็ว ทว่ากระบวนการเผาถ่านซังข้าวโพดนั้นควรดำเนินอย่างรัดกุมและมีมาตรฐาน จึงยังคงอยู่ในช่วงเร่งพัฒนา

ภาพควันจากการเผาระยะไกล เมื่อมองจากสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ฉายชัดถึงปัญหาการเผาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ความเคยชินดังกล่าวนี้เองที่กลายเป็นกำแพงต่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร ซ้ำร้ายยังทำให้ประชาชนเกิดความย่ามใจที่จะป้องกันตัวจากหมอกควันและฝุ่นละออง เพราะมองสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

เกษตรกรกับถึงยาเคมีที่แนบอยู่กับตัว แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้ถึงอันตรายของสารเคมีที่แม้จะอยู่ใกล้ตัวในระดับแนบชิดร่างกาย ทว่ากลับมองไม่เห็นผลลัพธ์ทางลบที่จะตามมา ซึ่งประเด็นความไม่รู้นั้นนับเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และการใช้สารเคมีในการผลิตสินค้าเกษตร เพราะไม่ว่าจะรณรงค์หรือกีดกันด้วยมาตรการร้ายแรงขนาดไหน ถ้าเกษตรกรผู้ผลิตยังขาดความรู้ความเข้าใจในภาพรวมของผลกระทบจากการใช้สารเคมี ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงเรื้อรังไม่จบสิ้น

พื้นที่ภูเขาหัวโล้นอันเป็นภาพชินตาในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงอีกหลายจังหวัดทางภาคเหนือ อาทิ น่าน แพร่ เชียงราย ซึ่งนอกจากผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมที่เราเห็นกับตา ในอีกมุม ภูเขาหัวโล้นยังเป็นภาพสะท้อนของอีกหลายปัญหาที่คนพื้นราบต้องร่วมเผชิญ อาทิ ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม เพราะเมื่อฝนตกลงมา ปริมาณน้ำฝนราว 80 เปอร์เซ็นต์จะถูกกักไว้ในป่าต้นน้ำ ก่อนค่อยๆ ซึมลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้แหล่งน้ำมีน้ำตลอดทั้งปี แต่เมื่อป่าหายไป มวลน้ำเหล่านั้นก็จะพากันชะล้างหน้าดินแล้วไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดน้ำท่วมในหน้าฝน น้ำแล้งในหน้าร้อน ที่รังแต่จะรุนแรงขึ้นทุกวัน
อ้างอิง/Sources
(2) https://hkm.hrdi.or.th/knowledge/detail/273
(3) http://region3.prd.go.th/ct/news/showprint.php?ID=170823163814
(4) https://www.technologychaoban.com/flower-and-decorating-plants/article_41764
(5) https://www.thaipost.net/main/detail/9654
(6) https://www.thaipost.net/main/detail/9654
(7) https://www.thaipost.net/main/detail/4573
(8) http://www.nationtv.tv/main/content/378464255/
(9) https://www.sanook.com/health/5021/
(10) https://news.thaipbs.or.th/content/270124
(11) http://www.komchadluek.net/news/regional/319034
(12) https://www.dailynews.co.th/politics/653906
(13) http://fire.gistda.or.th/fire_report/Fire_2560.pdf
(14) https://www.sanook.com/money/335131/